วันจันทร์, มีนาคม 17, 2557

แรกเรียน

ตอนที่ 2
-----------
วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม 2550 (วันที่โพสท์ครั้งแรก)

มาเล่าต่อ...อาจจะไม่เป็นขั้นเป็นตอน ว่าไปตามที่นึกได้ละกัน

อันดับแรกที่นักเรียนต้องเรียนก็คือการตบมือและย่ำเท้า ซึ่งมีหลายแบบ หลายจังหวะ แล้วไม่ใช่จะสักแต่ว่าตบๆ มือไปให้มีเสียง มันต้องมีวิธีตบให้ถูกต้องด้วย ไม่งั้นมันจะไม่ดัง (เท่าครู) สมัยเรียนใหม่ๆ ฝึกแค่นี้ก็เหนื่อยแฮ่กแล้ว แต่เดี๋ยวนี้-สบาย...สิวๆ มาก

ครูคนไทยเคยบอกฉันว่าปัญหาใหญ่ของคนไทยคือการทำอะไรด้วยมือและเท้าพร้อมๆ กัน ด้วยจังหวะที่ไม่เท่ากัน สำหรับฉัน เรื่องนั้นไม่ใช่ปัญหา แต่กลายเป็นว่าฉันมักจะทำอะไรนุ่มนิ่มเกินไป ก้าวเท้าสั้นเกินไป ไม่เด็ดขาดขึงขัง ทั้งที่ฉันก็ว่าตัวเองมีความเป็นจิ๊กโก๋อยู่ในตัวไม่น้อย อาจจะเป็นเพราะเราถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่าไม่ควรทำอะไรเสียงดังเอะอะตึงตัง จะเป็นการเสียมารยาท ขณะที่ฟลาเมงโกคือการแสดงอารมณ์ออกมาอย่างเต็มที่ ไม่มีการเหนี่ยวรั้ง การสะบัดมือ วาดเท้าต้องมีพลัง...อย่างที่ทำให้หลายคนเห็นแล้วก็คิดไปว่าการเต้นฟลาเมงโกไม่มีอะไรมากไปกว่าการกระทืบบาทาเร็วๆ และแรงๆ

ปัญหาอีกอย่างที่ฉันรู้สึกคือความเชื่องช้า ฉันหมุนตัวได้ไม่ดีนักและมักจะช้าเกินไปเสมอ อาจจะเป็นเพราะจุดศูนย์ถ่วงไม่ดี (ฮา) แต่ครูไม่เคยตำหนิ อาจจะเห็นว่าตัวกลมป๊อกแบบนี้ มันเต้นได้เป็นเพลงก็บุญแล้ว ตอนนี้แม้ว่าจะทำได้ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ดีเท่าที่ฉันอยากให้เป็น เพราะการฝึกฟลาเมงโก เราควรจะสามารถเต้นได้เร็วขึ้นเรื่อยๆ

(เวลาฉันเต้นฟลาเมงโก้ คงจะคล้ายๆ อย่างนี้/ ภาพวาดโดยโบเตโร)

นอกจากการตบมือและย่ำเท้า ก็จะมีบทเรียนขั้นต้นคือเพลง Sevillanas (เซ-บิ-ยา-นาส) 4 เพลง ซึ่งใช้เวลาเรียนราวๆ 8-10 เดือน ในกรณีที่มาเรียนสัปดาห์ละครั้งและความจำไม่ได้เลวร้ายเกินไปนัก รวมทั้งรู้จักซ้อมที่บ้านเป็นครั้งคราว ครูจะให้ดีวีดีกลับมาดูด้วย แต่ดูแล้วอาจจะต้องกลั้นยิ้ม เพราะเสื้อผ้า-หน้า-ผมของคนในวิดีโอเป็นของยุค 20-30 ปีที่แล้วทั้งนั้น

ลักษณะการเรียนก็คล้ายๆ กับการเรียนดนตรีทั่วไปนั่นแหละ คือมาต่อเพลง ต่อท่ากันไปจนกว่าจะจบ แล้วก็ต้องฝึกซ้ำๆ กันทุกครั้งที่มาเรียน ตั้งแต่การตบมือ ย่ำเท้าต่างๆ เรียกว่าทำกันตั้งแต่บทที่ 1 ถึงบทเรียนล่าสุด ซึ่งอาจจะทำให้บางคนรู้สึกเบื่อ หลายคนเรียนไปได้ไม่กี่เดือนก็เลิก แต่ฉันชอบการฝึกแบบนี้ เพราะเท่ากับได้ทวนไปในตัว อีกอย่างก็คือ เมื่อเรียนไปนานๆ เซนเซ (ครูญี่ปุ่น) จะเร่งจังหวะเพลงให้เร็วขึ้น ซึ่งทำให้เราต้องเต้นเร็วขึ้นด้วย ผลก็คือเพลงที่เราเคยเต้นได้สบาย ก็จะไม่ใช่ของหมูๆ อีกต่อไป

เมื่อเรียนจบ Sevillanas ทั้ง 4 เพลง ก็จะได้เริ่มหัดเคาะกรับสเปน ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Castanet ส่วนคนสเปนจะเรียกว่า Castañuela (กัส-ตาญ-ยวย-ลา) ซึ่งน่าจะเป็นศัพท์เรียกแบบทางการ เพราะบางที ฉันก็เห็นในเว็บฟลาเมงโก้บางเว็บเรียกว่า pallilos (ปา-ยิ-โลส) แต่เซนเซเรียกสั้นๆ ว่า "ป๊า-โย่" กรับเจ้ากรรมนี้ ตอนเรียนใหม่ๆ ทำให้ฉันกลุ้มใจมากเพราะเคาะเท่าไหร่ก็ไม่ดัง ครูคนไทยบอกว่าหัดไปเถอะ สัก 2-3 เดือนก็จะดังเอง ฉันฟังแล้วไม่ค่อยจะเชื่อ ก็ดูมันไม่มีเววเอาเสียเลย พับผ่า

แต่ในที่สุด เมื่อผ่านไปประมาณ 3 เดือน ฉันก็ทำให้มันมีเสียงได้ แม้จะยังรัวได้ไม่ไพเราะเท่ามืออาชีพ แต่มันก็ดังล่ะ (วะ) โดยส่วนตัวแล้ว ฉันคิดว่ามันขึ้นอยู่กับกรับที่เราใช้ด้วย ถ้าได้อันที่เหมาะกับขนาดมือเราและทำจากไม้ดีๆ ไม่ต้องออกแรงมาก เสียงก็จะดังและเพราะมากๆ ด้วย ครูเคยบอกฉันว่ากรับดีๆ ราคาคู่ละประมาณสามหรือสี่พันบาททีเดียว ได้ยินราคาแล้ว ความอยากได้ก็ถดถอย สงสัยต้องรอไปซื้อตอนเซลส์ซะล่ะมั้ง...

(แต่สุดท้ายฉันก็ซื้อมาได้คู่นึง ตอนไปเที่ยวสเปน คู่ละ 5 ยูโรมั้ง ถ้าจำไม่ผิด เทียบเป็นเงินไทยก็ราวๆ สองร้อยบาท แต่ปรากฏว่าไซส์มันเล็กไปหน่อยสำหรับฉัน ใช้ไปแล้วก็ไม่ค่อยถูกใจเท่าไหร่)

ไม่มีความคิดเห็น:

โพสต์แนะนำ

Learning Flamenco in Thailand

17th September 2018/ 17 กันยายน 2561 ข่าวเพิ่มเติม ทาคุโอะเซนเซถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ดังนั้น ผู้ที่ต้องการเรียนกีตาร...