วันจันทร์, มีนาคม 17, 2557

ฟลาเมงโกกับน้องเบเบ้

วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม 2551 (วันที่โพสท์ครั้งแรก)

วันหนึ่งเมื่อฉันไปเรียนตามปกติ พบจบครึ่งแรก พระอาจารย์ชาวญี่ปุ่นของฉันก็พูด...แปลเป็นไทยได้ความว่า "เดี๋ยวมาดูวิดีโอเบเบ้กัน" ฉันก็รับคำแบบงงๆ นึกว่าเป็นวิดีโอนักเต้นฟลาเมงโกที่ครูชื่นชอบแบบที่แกเปิดให้ดูบ่อยๆ

ครูเปิดทีวี เปิดวิดีโอ ทันใดนั้นก็ปรากฏภาพสาวน้อยหน้าใสกำลังวาดลีลาฮิพ-ฮอพขึ้นบนจอ

ตอนแรกฉันก็นึกว่าเป็นภาพเก่าที่ติดมาจากหัวม้วนวิดีโอ แบบว่าอัดทับไง นึกออกมะ ทันใดนั้น ครูก็ชี้มือไปที่แม่สาวน้อยที่กำลังโยกย้ายแล้วก็ย้ำว่า "เบเบ้"

ฉันก็แบบว่า เอาล่ะซี พระอาจารย์มาอารมณ์ไหนวะเนี่ย? เรียนฟลาเมงโกอยู่ดีๆ ก็มาให้ดูฮิพ-ฮอพซะงั้น แล้วเบเบ้นี่มันใครกันหว่า?

พักใหญ่ๆ หน้าจอทีวีก็เปลี่ยนไป มีพิธีกรหนุ่มมาพูดแนะนำว่าต่อไปนี้ "น้องเบเบ้" จะมา "เต้นระบำสเปน" น้องเบเบ้ที่ว่านี้ก็คือ ดาราสาวและนักร้องสาวนามว่า ธันย์ชนก ฤทธินาคา นั่นเอง

แล้วภาพก็ตัดไปเป็นน้องเบเบ้กำลังวาดลวดลายฟลาเมงโก้ในแบบ Solea ที่พระอาจารย์บอกว่าอาจจะอ่อนซ้อมไปหน่อย แต่โดยรวมๆ แล้วก็ลีลาดีทีเดียว เสียตรงที่เสียงกีตาร์แย่มาก (ก็ห้องมันเป็นกระจก เสียงก็เลยสะท้อนก้องไปหมด) ฉันยังทึ่งเลยว่าน้องเขากะจังหวะเต้นเข้าไปได้ยังไง้ เพราะมันแทบจะฟังไม่เป็นเพลงเลย แล้วก็รำคาญนิดหน่อยที่กล้องมัวแต่ซูมหน้าน้องอยู่พักใหญ่ แทนที่จะจับลีลาให้ได้เห็นกันถนัดๆ จะเข้าท่ากว่า

พระอาจารย์ทำท่าปลื้มอกปลื้มใจกับน้องเบเบ้เป็นอันมาก แล้วก็ออกปากว่าอยากจะได้โฟโต้ อัลบั้มของน้อง ฉันรู้บ้างไหมว่าจะไปหาซื้อได้ที่ไหน...นั่น...ครูฉันวัยรุ่นกว่าลูกศิษย์เสียอีก

อาทิตย์ต่อมา ฉันก็อุตส่าห์ไปหาโฟโต้อัลบั้มของน้องเบเบ้มาให้พระอาจารย์จนได้ (ที่จริงมันก็ไม่ได้ยากอะไร แค่ต้องทำหน้าวัยรุ่นสุดขีดตอนไปถามหาที่ร้านหนังสือเท่านั้นแหละ) พระอาจารย์ของฉันยิ่งปลื้มหนัก บอกว่าเดี๋ยวจะไปลองแกะเพลงน้องเบเบ้ดูเสียหน่อย (แต่เดิมนักร้องคนโปรดของแกคือน้องลิเดีย-วัยรุ่นอีกแล้ว) แล้วก็บอกว่า แกอยากจะลองเล่นกีตาร์ฟลาเมงโกให้น้องเบเบ้เต้นสักเพลงสองเพลง แล้วฉันก็น่าจะไปเต้นกับน้องเขาด้วย

ฉันหัวเราะก๊าก ก็ถ้าจะเทียบหุ่นฉันกับน้องเขา มันก็คงเหมือนถังเบียร์กับแก้วไวน์ ยังไม่นับว่าน้องเขาเรียนไปถึงขั้นแอดวานซ์แล้ว ฉันยังต้วมเตี้ยม ไปไม่ถึงไหน ขืนเต้นด้วยกันก็ขำเปล่าๆ นอกจากนี้ พระอาจารย์ยังชักชวนอีกว่า ถ้าเมื่อไหร่ที่น้องเบเบ้มีโชว์ฟลาเมงโก เราไปดูด้วยกันนะ

เอาเป็นว่า ถ้าน้องเบเบ้เกิดมาอ่านเจอ ก็ขอให้ช่วยพิจารณาความฝันของคนสูงอายุด้วยก็แล้วกันนะจ๊ะ.

เวลาผ่านไป ไวเหมือนโกหก

วันอาทิตย์ที่ 3 สิงหาคม 2551 (วันที่โพสท์ครั้งแรก)

พอมาดูบล็อกอีกทีก็ให้รู้สึกน่าอายยิ่งนัก แรกฝันไว้เลิศหรูว่าจะมาเล่าสู่กันฟังถึงประสบการณ์การเรียนฟลาเมงโก ก็มัวแต่ทำมาหากินประกอบกับความเกียจคร้าน ผลก็เลยเป็นเช่นนี้

ถึงวันนี้ก็เรียนไปได้หลายอย่าง ซึ่งก็สมควรอยู่ เพราะนับแล้วฉันก็เรียนฟลาเมงโกมาร่วมสามปีแล้วกระมัง "เซบิยานาส" หรือก็เรียนจบทั้งสี่เพลงแล้ว ส่วน "อเลเกรียส" (Alegrias) ก็เรียนไปจนจบท่อน "ซิเลนซิโอ" (Silencio) แล้ว ตามด้วยเพลง "ตังกิโย" (Tanguillo) อีกหนึ่งท่อน แถมด้วยการเรียนกีตาร์ เรียกว่าเรียนกันอุตลุดเลยครับท่านพ่อแม่พี่น้อง

ความที่เรียนกีตาร์ฟลาเมงโกด้วย (วิชาโทภาคบังคับ) ตอนนี้นิ้วมือข้างซ้ายก็เริ่มด้าน ขณะที่นิ้วมือข้างขวาก็ต้องไว้เล็บยาว เพราะกีตาร์ฟลาเมงโกไม่มีการใช้ปิ๊กดีดนะครับพี่น้อง ใช้ได้แต่นิ้วและเล็บของเราเท่านั้น ไอ้เรื่องเจ็บนั้นไม่เท่าไหร่ เพราะเคยเรียนกีตาร์ตอนเด็กๆ มาแล้ว แต่เหนื่อยมากๆ เพราะการเล่นกีตาร์แบบฟลาเมงโกนี้ต้องใช้พลังมากจริงๆ แล้วเรื่องเมื่อยนี่...สุดยอด บางวันนิ้วเกร็งค้าง อารมณ์เดียวกับคนกรามค้างเลย เพราะฉันเป็นคนมือเล็ก นิ้วสั้น เวลาเล่นกีตาร์ก็เลยยากลำบากลำบน แต่ก็กัดฟันทน โธ่...ก็อาจารย์ปู่ของฉันน่ะ มือก็เล็กพอๆ กัน ท่านยังเล่นได้เลย ฉะนั้นจึงไม่มีข้ออ้างว่าสรีระไม่ให้เด็ดขาด (เศร้า)

แม้จะเรียนมานานแล้ว แต่ปัญหาที่ฉันยังแก้ไม่ตกก็คือการดีดกรับให้มันดังเด้งสมใจนึก รู้น่ะว่ามันต้องหัดบ่อยๆ แต่ว่ามันขี้เกียจ เอ๊ย มันไม่ค่อยจะมีเวลา พอมีเวลาก็ลืมทุกที หรือไม่ก็มีคนอยู่เต็มบ้าน ทำให้ไม่กล้าซ้อมดีด กลัวคนที่บ้านจะมัวแต่มองหาว่ารถขายเกี๊ยวที่ไหนวะ วิ่งเข้าซอยออกซอยอยู่ได้

อีกอย่างก็คือฉันยังกะช่วงที่ควรจะวางนิ้วบนกรับและยังปรับความแน่น-หลวมของสายผูกได้ไม่ดี คนที่ดีดเก่งๆ คงไม่มีปัญหา แต่สำหรับฉันมันเป็นเรื่องใหญ่ เพราะถ้าผูกสายเชือกแน่นไป เราจะดีดกรับไม่ดังเพราะเชือกมันรั้งชิ้นไม้ไว้ตึงเกินไป แต่ถ้าปล่อยให้เชือกหย่อนมากไปก็จะทำให้เราดีดไม่ถนัด ยิ่งเวลาที่ต้องวาดแขนไปด้วย ดีดกรับไปด้วย แถมด้วยเท้าก็ต้องเดินไปตามสเต็ปเพลง คุณเอ๊ย ไม่รู้จะทำอะไรก่อนอะไรหลัง ชีวิตนี้ช่างสับสนเป็นยิ่งนัก

แต่ถ้าวันไหนกะทุกอย่างได้พอดีเป๊ะ เสียงกรับจะดังกังวาน ชวนให้ฮึกเหิมและเคลิ้มไปว่าเออ ตูข้าก็ฝีมือไม่เลวเหมือนกันนิ อะเหอๆ แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่มันจะเก่งจริงๆ

ขอนอกเรื่องนิดนึง เมื่อเดือนที่แล้วไปเข้าคลาสลีลาศ มีสอนจังหวะ ปาโซโดเบล (Paso Doble) ด้วย อีนี่ก็เลย "อิน" ซะ... อยากจะคิดว่าดิฉันมาดให้ที่สุดในชั้นเลยเชียว

ตอนนี้ใช้วิธีเรียกผีฟลาเมงโกกับผีสเปนให้มาเข้าสิง คิดอะไรเป็นภาษาสเปนไปโม้ด เวลาทำงานก็เปิดแต่เพลงฟลาเมงโก จะอ่านนิยายก็ไปหยิบเอาเรื่องที่เกี่ยวกับฟลาเมงโกมาอ่าน ว่างๆ ก็ดูดีวีดีฟลาเมงโก ทั้งที่เป็นบทเรียนและเป็นหนัง เอาให้มันอินถึงขั้นหลับก็ฝันถึงได้ยิ่งดี เรียกว่าพยายาม Living flamenco ให้มากที่สุด ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยอะไรเกี่ยวกับการเรียนได้ไหม แต่ว่าทำแล้วสบายใจ ก็เลยไม่รู้ว่าทำไมถึงจะไม่ทำ

ไปล่ะ เดี๋ยวอาทิตย์หน้า ถ้าไม่ขี้เกียจ ก็จะมาเล่าสู่กันฟังให้มันเป็นเรื่องเป็นราวกว่านี้.

แรกเรียน

ตอนที่ 2
-----------
วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม 2550 (วันที่โพสท์ครั้งแรก)

มาเล่าต่อ...อาจจะไม่เป็นขั้นเป็นตอน ว่าไปตามที่นึกได้ละกัน

อันดับแรกที่นักเรียนต้องเรียนก็คือการตบมือและย่ำเท้า ซึ่งมีหลายแบบ หลายจังหวะ แล้วไม่ใช่จะสักแต่ว่าตบๆ มือไปให้มีเสียง มันต้องมีวิธีตบให้ถูกต้องด้วย ไม่งั้นมันจะไม่ดัง (เท่าครู) สมัยเรียนใหม่ๆ ฝึกแค่นี้ก็เหนื่อยแฮ่กแล้ว แต่เดี๋ยวนี้-สบาย...สิวๆ มาก

ครูคนไทยเคยบอกฉันว่าปัญหาใหญ่ของคนไทยคือการทำอะไรด้วยมือและเท้าพร้อมๆ กัน ด้วยจังหวะที่ไม่เท่ากัน สำหรับฉัน เรื่องนั้นไม่ใช่ปัญหา แต่กลายเป็นว่าฉันมักจะทำอะไรนุ่มนิ่มเกินไป ก้าวเท้าสั้นเกินไป ไม่เด็ดขาดขึงขัง ทั้งที่ฉันก็ว่าตัวเองมีความเป็นจิ๊กโก๋อยู่ในตัวไม่น้อย อาจจะเป็นเพราะเราถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่าไม่ควรทำอะไรเสียงดังเอะอะตึงตัง จะเป็นการเสียมารยาท ขณะที่ฟลาเมงโกคือการแสดงอารมณ์ออกมาอย่างเต็มที่ ไม่มีการเหนี่ยวรั้ง การสะบัดมือ วาดเท้าต้องมีพลัง...อย่างที่ทำให้หลายคนเห็นแล้วก็คิดไปว่าการเต้นฟลาเมงโกไม่มีอะไรมากไปกว่าการกระทืบบาทาเร็วๆ และแรงๆ

ปัญหาอีกอย่างที่ฉันรู้สึกคือความเชื่องช้า ฉันหมุนตัวได้ไม่ดีนักและมักจะช้าเกินไปเสมอ อาจจะเป็นเพราะจุดศูนย์ถ่วงไม่ดี (ฮา) แต่ครูไม่เคยตำหนิ อาจจะเห็นว่าตัวกลมป๊อกแบบนี้ มันเต้นได้เป็นเพลงก็บุญแล้ว ตอนนี้แม้ว่าจะทำได้ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ดีเท่าที่ฉันอยากให้เป็น เพราะการฝึกฟลาเมงโก เราควรจะสามารถเต้นได้เร็วขึ้นเรื่อยๆ

(เวลาฉันเต้นฟลาเมงโก้ คงจะคล้ายๆ อย่างนี้/ ภาพวาดโดยโบเตโร)

นอกจากการตบมือและย่ำเท้า ก็จะมีบทเรียนขั้นต้นคือเพลง Sevillanas (เซ-บิ-ยา-นาส) 4 เพลง ซึ่งใช้เวลาเรียนราวๆ 8-10 เดือน ในกรณีที่มาเรียนสัปดาห์ละครั้งและความจำไม่ได้เลวร้ายเกินไปนัก รวมทั้งรู้จักซ้อมที่บ้านเป็นครั้งคราว ครูจะให้ดีวีดีกลับมาดูด้วย แต่ดูแล้วอาจจะต้องกลั้นยิ้ม เพราะเสื้อผ้า-หน้า-ผมของคนในวิดีโอเป็นของยุค 20-30 ปีที่แล้วทั้งนั้น

ลักษณะการเรียนก็คล้ายๆ กับการเรียนดนตรีทั่วไปนั่นแหละ คือมาต่อเพลง ต่อท่ากันไปจนกว่าจะจบ แล้วก็ต้องฝึกซ้ำๆ กันทุกครั้งที่มาเรียน ตั้งแต่การตบมือ ย่ำเท้าต่างๆ เรียกว่าทำกันตั้งแต่บทที่ 1 ถึงบทเรียนล่าสุด ซึ่งอาจจะทำให้บางคนรู้สึกเบื่อ หลายคนเรียนไปได้ไม่กี่เดือนก็เลิก แต่ฉันชอบการฝึกแบบนี้ เพราะเท่ากับได้ทวนไปในตัว อีกอย่างก็คือ เมื่อเรียนไปนานๆ เซนเซ (ครูญี่ปุ่น) จะเร่งจังหวะเพลงให้เร็วขึ้น ซึ่งทำให้เราต้องเต้นเร็วขึ้นด้วย ผลก็คือเพลงที่เราเคยเต้นได้สบาย ก็จะไม่ใช่ของหมูๆ อีกต่อไป

เมื่อเรียนจบ Sevillanas ทั้ง 4 เพลง ก็จะได้เริ่มหัดเคาะกรับสเปน ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Castanet ส่วนคนสเปนจะเรียกว่า Castañuela (กัส-ตาญ-ยวย-ลา) ซึ่งน่าจะเป็นศัพท์เรียกแบบทางการ เพราะบางที ฉันก็เห็นในเว็บฟลาเมงโก้บางเว็บเรียกว่า pallilos (ปา-ยิ-โลส) แต่เซนเซเรียกสั้นๆ ว่า "ป๊า-โย่" กรับเจ้ากรรมนี้ ตอนเรียนใหม่ๆ ทำให้ฉันกลุ้มใจมากเพราะเคาะเท่าไหร่ก็ไม่ดัง ครูคนไทยบอกว่าหัดไปเถอะ สัก 2-3 เดือนก็จะดังเอง ฉันฟังแล้วไม่ค่อยจะเชื่อ ก็ดูมันไม่มีเววเอาเสียเลย พับผ่า

แต่ในที่สุด เมื่อผ่านไปประมาณ 3 เดือน ฉันก็ทำให้มันมีเสียงได้ แม้จะยังรัวได้ไม่ไพเราะเท่ามืออาชีพ แต่มันก็ดังล่ะ (วะ) โดยส่วนตัวแล้ว ฉันคิดว่ามันขึ้นอยู่กับกรับที่เราใช้ด้วย ถ้าได้อันที่เหมาะกับขนาดมือเราและทำจากไม้ดีๆ ไม่ต้องออกแรงมาก เสียงก็จะดังและเพราะมากๆ ด้วย ครูเคยบอกฉันว่ากรับดีๆ ราคาคู่ละประมาณสามหรือสี่พันบาททีเดียว ได้ยินราคาแล้ว ความอยากได้ก็ถดถอย สงสัยต้องรอไปซื้อตอนเซลส์ซะล่ะมั้ง...

(แต่สุดท้ายฉันก็ซื้อมาได้คู่นึง ตอนไปเที่ยวสเปน คู่ละ 5 ยูโรมั้ง ถ้าจำไม่ผิด เทียบเป็นเงินไทยก็ราวๆ สองร้อยบาท แต่ปรากฏว่าไซส์มันเล็กไปหน่อยสำหรับฉัน ใช้ไปแล้วก็ไม่ค่อยถูกใจเท่าไหร่)

เริ่มต้น...

ย้ายมาจากอีกบล็อกนึง เพราะนึกไม่ออกว่าจะเขียนแยกไปทำไม (ตอนที่แยกบล็อกก็คิดอะไรอยู่ไม่รู้อะ) เขียนไว้นานแล้วแหละ ตั้งกะปี 2550 ได้มั้ง สำหรับตอนเก่าที่ย้ายบ้านมาก็จะลงวันที่เขียนกำกับไว้ตอนต้นเรื่องแล้วกันเนาะ
-----------
วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม 2550 (วันที่โพสท์ครั้งแรก)

ฉันเรียนฟลาเมงโก้มาได้เกือบจะสองปีแล้วมั้ง ค่อยเรียนค่อยรู้ไปอย่างช้าๆ นับว่าถูกใจฉันที่ไม่ชอบทำอะไรเร็วๆ โดยไม่จำเป็น

ยังจำได้ว่า เปิดเจอโรงเรียนสอนฟลาเมงโก้ในหน้านิตยสารผู้หญิงหัวนอกฉบับหนึ่ง ตอนนั้น ฉันกำลังเบื่อโลก อยากจะหาอะไรที่ทำแล้วชื่นใจ ไม่ใช่ว่าวันๆ เอาแต่ทำงานงกๆ อย่างเดียว

ตอนแรกที่อ่านบทความนั้น ฉันก็นึกในใจว่าอยากเรียนจังเลย แต่...ฉันก็ทิ้งความคิดนั้นให้ผ่านเลยไป เหมือนอะไรหลายอย่างในชีวิตที่ฉันปล่อยให้ผ่านเลยเพราะนิสัยเฉื่อยชาและไม่ชอบทำธุระเกี่ยวกับการติดต่อจัดการ

แล้ววันหนึ่ง ฉันก็ฮึดขึ้นมา บอกตัวเองว่าจะรอทำไม? ฟลาเมงโกคือสิ่งที่ฉันชอบมาตั้งนานนม อาจจะไม่ใช่ในแบบรักแรกพบ แต่มันอยู่ในใจฉันเสมอ

เมื่อตอนที่ฉันยังเด็ก สถานที่ที่เปิดสอนฟลาเมงโกนั้น มีอยู่ที่เดียวคือมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งต้องสอบเอ็นทรานซ์เข้าไป ซึ่งในตอนนั้น มันคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย (สอบเอ็นฯ ไปเรียนฟลาเมงโก? จบออกมาจะทำอะไรกิน?)

ฉันก็คงเหมือนผู้ใหญ่อีกหลายคนที่ตอนยังอายุน้อยๆ ต้องทิ้งความฝัน (หรือในที่นี้อยู่ในขั้นที่เป็นแค่ความ "อยาก") ของตัวเองไป เพราะในรายการอันดับสิ่งสำคัญในชีวิต ฟลาเมงโกไม่ได้อยู่อันดับต้นๆ

ตอนนี้ เหมือนความฝันแบบเด็กๆ กลับมาอยู่ตรงหน้า รอแค่เอื้อมมือไปคว้ามา ไม่มีเหตุผลอะไรที่ฉันจะต้องรั้งรออีก

ฉันเขียนอี-เมลไปถามรายละเอียด แล้วก็ได้เบอร์โทรศัพท์ แล้วฉันก็โทรศัพท์ไปนัดหมายเพื่อลองเรียน (ฟรี) กับเพื่อนและรุ่นพี่อีก 2 คน สุดท้ายก็เหลือฉันคนเดียวที่ตัดสินใจเรียนอย่างจริงจัง

ในช่วงแรกที่ฉันเข้าไปเรียน มีครูสอน 2 คน ครูชาวญี่ปุ่นจะเป็นคนเล่นกีตาร์ ครูคนไทยจะเป็นคนสอนท่าเต้น

ฉันชอบการเรียนที่นี่ เพราะฉันเป็นนักเรียนคนเดียว ไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร ไม่ต้องอายใครและไม่ต้องกลัวโดนล้อ และครูที่สอนก็ใจดีมาก จริงๆ นะ ฉันว่าเรื่องเหล่านี้สำคัญ คนที่ไม่เคยเรียนเต้นรำมาก่อน แล้วต้องมาหัดคงจะเข้าใจ โดยเฉพาะคนเที่เริ่มต้นตอนที่ไม่ใช่เด็กแล้ว รูปร่างก็ใช่ว่าจะดี ถ้าเราอยู่ในคลาสใหญ่ๆ ที่มีคนเยอะแยะ และคนอื่นก็ดูเหมือนจะเก่งกว่า (และเด็กกว่า/ผอมกว่า) เรา ใครๆ ก็ใจฝ่อทั้งนั้นแหละ ยิ่งถ้าเราหัวช้า เรียนช้า ก็จะกลายเป็นตัวถ่วงเพื่อนๆ อีกด้วย โอกาสที่เราจะมั่วๆ ไปเพื่อให้ตามเขาทันก็จะมีมาก ผลก็คือได้วิชาไม่เต็มร้อย ส่วนครูก็อาจจะดูแลไม่ทั่วถึง หรือเกิดได้ครูปากร้าย ชอบว่าเหน็บแนม ก็จะยิ่งไม่อยากเรียน

ประสบการณ์อย่างนี้ฉันรู้ดี อย่างตอนฉันไปเรียนว่ายน้ำ ครูที่สอนชอบว่าจิก แถมยังชอบตี มันไม่เจ็บหรอก แต่ฉันก็ไม่ชอบและรู้สึกว่าน่ารำคาญ เพราะทุกคนที่ไปเรียนคือผู้ใหญ่ที่ว่ายน้ำไม่เป็น ไม่ใช่เด็กเล็ก ผลก็คือ ฉันไปไม่กี่ครั้ง ก็ขอสวัสดีลาก่อน และจนบัดนี้ ฉันก็ยังว่ายน้ำไม่เป็น

โชคดีที่ชั้นเรียนฟลาเมงโก้ของฉันไม่เป็นอย่างนั้น...

(เอาแค่นี้ก่อน หิวข้าวละ ไว้วันหลังค่อยมาเล่าต่อ)

โพสต์แนะนำ

Learning Flamenco in Thailand

17th September 2018/ 17 กันยายน 2561 ข่าวเพิ่มเติม ทาคุโอะเซนเซถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ดังนั้น ผู้ที่ต้องการเรียนกีตาร...