วันอาทิตย์, สิงหาคม 03, 2551

หนุ่มน้อย, ฟลาเมงโก้และเพลงฝรั่งเศส

เดี๋ยวจะหาว่ามีแต่เรื่องของนักเต้นฝ่ายหญิง วันนี้มีนักเต้นฝ่ายชายรุ่นใหม่มาให้ได้รู้จักกัน หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูเสียด้วย ชื่อของเขาคือ ปาสกาล กาโอนา (Pascal Gaona)

เอ๊ะ ได้ยังไง? ชื่อแบบนี้ไม่เห็นจะใช่คนสเปน

ถูกต้องแล้วค่ะ พ่อหนุ่มคนนี้มาจากเมืองน้ำหอม หลงใหลศิลปะการเต้นของชาติเพื่อนบ้านจนหอบผ้าหอบผ่อนมาร่ำเรียนวิชาถึงแดนกระทิงดุตั้งแต่ปี 2535 แล้วก็นับว่าเป็นนักเต้นที่มีฝีมือพอตัวทีเดียว--เก่งขนาดที่ได้เป็นสมาชิกชาวต่างชาติเพียงคนเดียวของคณะบัลเล่ต์แห่งชาติสเปน (Spanish National Ballet Company) เชียวนะ

ปาสกาลเป็นชาวฝรั่งเศสตอนใต้ เขตที่เรียกว่า “เฟรนช์ บาสก์” (French Basque) ซึ่งเป็นเขตที่ติดสเปนแค่เทือกเขาพีเรเนส์ขวาง ปาสกาลบอกว่าเขามีญาติพี่น้องทางสเปนด้วย จึงกล่าวได้ว่าเขาก็มีเชื้อสายสเปนอยู่ในตัวเหมือนกัน ตอนเด็กๆ ได้รับอิทธิพลทางดนตรีฟลาเมงโก้จากศิลปินดังอย่าง กามารอน (Camarón) และ อันโตนิโอ กาเดส (Antonio Gades) รวมทั้งดนตรีคลาสสิกของสเปนโดย ฟาย่า (Falla) และ อัลเบนิซ (Albéniz)

พี่สาวของปาสกาลนั้นเรียนเต้นฟลาเมงโก้ที่โรงเรียนของคุณป้าของเขา ปาสกาลเองก็เรียนๆ เล่นๆ จนกระทั่งอายุราวๆ ยี่สิบนั่นแหละถึงจะรู้ตัวว่าหลงรักศิลปะแขนงนี้เข้าอย่างจัง ทำให้เขาตัดสินใจได้ว่าอยากเป็นนักเต้นอาชีพแทนการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ว่าแล้วก็เก็บกระเป๋าไปอยู่ที่สเปนหลังจากได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมคณะของราฟาเอล อากิลาร์ (Rafael Aguilar) โดยที่แทบจะไม่กระดิกหูภาษาสเปนเลย อยู่ๆ ไปก็ใช้เวลาว่างระหว่างหยุดพักทัวร์การแสดงของคณะไปเรียนวิชาเพิ่มเติมจากสุดยอดพระอาจารย์ฟลาเมงโก้ทั้งหลาย ต่อมาก็ได้ร่วมงานกับศิลปินฟลาเมงโก้ดังๆ อย่าง โฆเซ อันโตนิโอ (José Antonio), อันโตนิโอ มาร์เกซ (Antonio Márquez) และไอดา โกเมซ (Aída Gómez) ซึ่งป้าไอดานี่แหละที่เป็นผู้ชักนำเขาเข้าสู่แวดวงของคณะบัลเล่ต์แห่งชาติสเปน

ปาสกาลเรียนการเต้นมาหลายประเภท นอกจากฟลาเมงโก้ เขาก็เต้นได้ทั้งคลาสสิกและโมเดิร์นรวมถึงระบำพื้นบ้านสเปน จริงๆ แล้ว เขาสารภาพว่าไม่ค่อยได้เต้นฟลาเมงโก้เท่าไหร่นัก แต่ชีวิตเขาก็แวดล้อมด้วยนักเต้นฟลาเมงโก้เก่งๆ มาตลอด ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและสามารถกำกับและออกแบบท่าเต้นของฟลาเมงโก้ได้ เขาชอบสไตล์การเต้นแบบเรียบง่ายและเนี้ยบ สเต็ปของเขาจะไม่ซับซ้อนจนเกินไป ล่าสุดเขากำลังทำโชว์ฟลาเมงโก้ชื่อ Fl@menco.fr เป็นการเต้นฟลาเมงโก้แนวฟิวชั่น โดยใช้เพลงฝรั่งเศสประกอบ เพราะเป็นคนฝรั่งเศสที่ใช้ชีวิตอยู่ในสเปนมานาน คนสองโลกอย่างเขาจึงอยากผสมผสานความเป็นสองดินแดนนี้ออกมาให้คนอื่นได้เห็น เขาบอกไว้ในบทสัมภาษณ์ว่า “สำหรับผมแล้ว ทั้งฟลาเมงโก้และเพลงฝรั่งเศสคือการแสดงถึงความรู้สึก...ถึงความจริงแท้ ทั้งสองอย่างล้วนแสดงให้เห็นเสียงร่ำไห้และความเศร้าโศกในวิถีของมันเอง”

โชว์ชุดนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานเพลงชุด Chanson Flamenca ของ เปโดร โอเฆสโตร (Pedro Ojestro) และ มานูเอล เด มาเรีย (Manuel de María) ซึ่งเป็นการนำเพลงคลาสสิกของฝรั่งเศสมาตีความใหม่ในรูปของดนตรีฟลาเมงโก้ ปาสกาลนำเพลงเหล่านั้นมาร้อยเรียงและสร้างเรื่องราว โดยมีพล็อตคร่าวๆ มาจากชีวิตของเขาเอง นั่นคือเรื่องของชายหนุ่มชาวฝรั่งเศสและการเดินทางสู่โลกฟลาเมงโก้ของเขา ปาสกาลกำหนดให้โชว์ชุดนี้เป็นลูกผสมของการเต้น การละครและการร้อง เขาใช้นักเต้นแทนนักแสดง และตัวเขาเองก็ลงทุนร้องเพลงเองด้วย สุ้มเสียงก็น่าจะใช้ได้อยู่หรอก ในเมื่อเขาลงทุนร่ำเรียนการร้องเพลงมาตั้งแต่เมื่อสี่ปีที่แล้วเพราะอยากจะลองแสดงละครเพลงดูบ้าง

จุดเด่นอีกอย่างคือเวทีและฉากหลังซึ่งใช้แสงสีเสียงที่แตกต่างไปจากโชว์ฟลาเมงโก้ที่เคยเป็นมา โดยเขาบอกว่าเปรียบให้เป็นเหมือน”เว็บเพจ” บนโลกอินเตอร์เน็ทซึ่งเขาคิดจินตนาการไปว่าคือสถานที่ที่เกิดเรื่องราวเหล่านี้ขึ้น ปาสกาลยังคิดว่าโลกไซเบอร์นั้น “เป็นที่ที่เหมาะมากที่จะเผยแพร่และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับฟลาเมงโก้ ปัจจุบันนี้ เว็บไซต์คือวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการติดตามว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในโลกฟลาเมงโก้ มันไปได้ทุกที่ คุณสามารถพูดคุยกับทุกคนจากทุกประเทศ น่าสนใจมากเลยล่ะ”

แวะไปดูเว็บไซต์ของเขาได้ที่ http://www.pascalgaona.com/

อ่านบทสัมภาษณ์ของเขาเกี่ยวกับ Fl@menco.fr ได้ที่นี่

วันอาทิตย์, มิถุนายน 29, 2551

Sara Baras ซูเปอร์สตาร์แห่งโลกฟลาเมงโก้

ซาร่า บาราส หรือชื่อเต็มว่า ซาร่า เปเรย์รา บาราส (Sara Pereyra Baras) เกิดเมื่อปีค.ศ. 1971 ที่เมืองกาดิซ (Cadiz) ซึ่งอยู่ทางใต้ของสเปน เริ่มเรียนเต้นรำตั้งแต่ 8 ขวบในโรงเรียนของกอนชา บาราส (Concha Baras) ซึ่งเป็นแม่ของเธอเอง เธอเริ่มออกแสดงตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นโดยอยู่ในคณะ Los Niños de la Tertulia Flamenca ซึ่งเคยแสดงต่อหน้าพระพักตร์ของพระราชินีโซเฟียแห่งสเปน

ซาร่าเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังเมื่อเธอเข้าร่วมคณะของมานูเอล โมราโอ (Manuel Morao) ในปีค.ศ. 1989 และออกแสดงในงาน Alhambra 89 Flamenco Theatre Festival ที่กรานาดา เธออยู่กับคณะนี้หลายปีทีเดียวและออกแสดงในหลายงานหลายประเทศ รวมทั้งที่ทาวน์ฮอลเธียเตอร์ของกรุงนิวยอร์ค ในปีค.ศ. 1993 เธอก็ได้รางวัล Madroño Flamenco of Montellano หรือรางวัลนักเต้นฟลาเมงโกที่ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งปี ซึ่งเป็นหนึ่งในอีกหลายๆ รางวัลที่เธอได้รับในเวลาต่อมา

หลังจากนั้น ซาร่าก็ออกตระเวณแสดงกับศิลปินฟลาเมงโก้ที่มีชื่อเสียงมากมาย ทั้งในและนอกบ้านเกิด ที่น่าสนใจคือในช่วงปีค.ศ. 1996-1997 เธอร่วมแสดงกับอันโตนิโอ กานาเลส (Antonio Canales) สุดยอดนักเต้นฟลาเมงโก้ในฐานะนักเต้นรับเชิญของการแสดงชุด Gitano (“Gypsy”) ของเขา เธอยังกลับไปแสดงกับคณะของกานาเลสอีกครั้งในปีค.ศ. 1998 โดยเป็นนักเต้นรับเชิญของโชว์ชุด La Huella de España ("Traces of Spain") ซึ่งเป็นรายการแสดงเพื่อร่วมเฉลิมฉลองครบรอบร้อยปีการประกาศอิสรภาพของประเทศคิวบา นับว่าทั้งคู่มีสายสัมพันธ์อันดีต่อกันไม่น้อย

ซาร่า บาราสเริ่มตั้งคณะของตัวเองในปีค.ศ. 1997 และแสดงปิดท้ายรายการในงาน Festival Nacional de Cante de las Minas การแสดงที่ผ่านมาของคณะของเธอได้แก่ Sensaciones, Sueños และ Sabores การแสดงทุกชุดได้รับความนิยมและเสียงชื่นชมอย่างมาก นอกจากนี้เธอยังปรากฏตัวในภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น Juana la Loca (2001) และ Mariana Pineda (2002) และ Iberia ของผู้กำกับฯ การ์โลส เซารา รวมทั้งแสดงในฉากเปิดเรื่องของ Mission Impossilble II

นอกจากชื่อเสียงโด่งดังเปรียบได้ดังไอดอลของวงการฟลาเมงโก้แล้ว รูปร่างหน้าตาสวยสง่าและบุคลิกที่โดดเด่นของซาร่ายังถูกใจเหล่าดีไซเนอร์อีกด้วย ทั้งนี้ เธอยังเคยเดินแบบให้อามาย่า อาร์ซัวกา (Amaya Arzuaga) ในงานแฟชั่นวีคที่ลอนดอน และเป็นนางแบบให้ฟรานซิส มอนเตซิโนส (Francis Montesinos) ในงานแฟชั่นโชว์ที่มาดริดและลิสบอน ซาร่ายังออกคอลเล็คชั่นชุดชั้นในของตัวเองและสาวๆ ในคณะของเธอโดยทำงานร่วมกับไทรอัมพ์ นอกจากนี้เธอยังไปถ่ายแบบเครื่องประดับอัญมณีให้กับคาเทียร์

ผลงานล่าสุดของคณะนักเต้นซาร่า บาราสก็คือ Carmen ซึ่งซาร่า บาราสจะเป็นผู้ออกแบบท่าเต้นและเวที โดย ‘คาร์เมน’ ของเธอจะพัฒนาจากตัวละครในนิยายของพรอสเพร์ เมริเม่ (Prosper Mérimée) ซึ่งเธอรู้จักนิยายเรื่องนี้มาตั้งแต่เล็กๆ และบอกว่า ‘คาร์เมน’ เวอร์ชันที่เธอจดจำได้มากที่สุดก็คือภาพยนตร์ที่นำแสดงโดยอันโตนิโอ กาเดส (Antonio Gades) นักเต้นฟลาเมงโกระดับเทพผู้ล่วงลับไปแล้ว ตำนานรักแสนเศร้าของสเปนเรื่องนี้ยังกลายเป็นโอเปร่าเรื่องดัง ประพันธ์โดยจอร์จ บิเซต์ (Bizet) ซึ่งดูเหมือนจะเป็นผลงานที่ซาร่าพยายามหลีกเลี่ยงนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการแสดงครั้งนี้ เพราะเธอบอกว่า “ไม่ต้องการทำซ้ำในสิ่งที่ทุกคนรู้จักดีอยู่แล้ว”

ดังนั้นดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงจึงเป็นบทเพลงสไตล์ฟลาเมงโก้ทั้งหมด กำกับดนตรีโดยโฆอัน บาเลนต์ (Joan Valent) โดยจะไม่ใช้บทประพันธ์เพลงของบิเซต์เลย แต่จะมีการใช้บางส่วนของบทเพลงจากฝีมือของปาโก เด ลูเซีย (Paco de Lucía) ซึ่งเป็นเพลงที่ใช้ในภาพยนตร์เรื่อง Carmen ของการ์โลส เซาราและนำแสดงโดยอันโตนิโอ กาเดสเรือ่งที่ฝังใจซาร่าเอามากๆ นั่นเอง

ทางด้านนักเต้นชายที่จะมาเต้นคู่กับซาร่าก็คือโฆเซ เซร์ราโน (José Serrano) ในบท ‘เอล โตเรโร’ (El Torero) หรือนักสู้วัวกระทิง อีกรายคือลูอิส ออร์เตกา (Luis Ortega) ในบทของ ‘ดอน โฆเซ’ (Don José) แน่นอนว่า ‘คาร์เมน’ ของซาร่า บาราสจะไม่เหมือนกับ ‘คาร์เมน’ ของไอดา โกเมซ (Aida Gomez) ที่ผู้ชมชาวไทยเคยชมการแสดงชุดนั้นมาแล้วเมื่อราว2-3 ปีก่อน ซาร่า อธิบายถึงตัวละครที่เธอจะสวมบทบาทว่าเป็นคนที่ “อ่อนหวาน น่ารักน่าใคร่ พยายามจะลิขิตชะตาชีวิตของตัวเองและเต็มเปี่ยมด้วยอารมณ์ความรู้สึก” โดยเธอมีความเห็นว่า Carmen ก็คือเรื่องราวโศกนาฏกรรมของหญิงสาวที่พยายามเรียกร้องเสรีภาพให้ตนเอง

ปัจจุบันซาร่ามีเว็บไซต์ของเธอเองคือ http://www.sarabaras.com/ แต่กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุง

Source : Wikipedia.com, esflamenco.com

หมายเหตุ
ซาร่า บาราสจะมาแสดงที่กรุงเทพฯ ในงานมหกรรมดนตรีและศิลปะการแสดงนานาชาติครั้งที่ 10 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในวันพุธที่ 8 ตุลาคม 2551 ตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดแน่ชัดว่าเธอจะแสดงเรื่อง Carmen หรือ Sabores ซึ่งเป็นโชว์ชุดก่อนหน้า แต่ที่แน่ๆ คือบัตรเข้าชมจำหน่ายราคา 3,000 / 2,200 / 1,700 / 1,300 / 600 บาท จองกันได้ที่ http://www.thaiticketmajor.com/performance/icp_2008.php

วันอังคาร, เมษายน 08, 2551

Museo del Baile Flamenco

เพิ่งได้มีโอกาสไปเยือน Museo del Baile Flamenco (Museum of Flamenco Dance) ที่เมืองเซบิญ่า (Sevilla/ Seville) ประเทศสเปน มาค่ะ เป็นพิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยมที่รวบรวมเรื่องราวและความรู้เกี่ยวกับการเต้นฟลาเมงโก้มาจัดแสดงโดยใช้ระบบแสง สี เสียงและอุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ ขนาดคนที่ไม่ใช่คอฟลาเมงโก้ยังต้องทึ่ง

ภายในพิพิธภัณฑ์มี 4 ชั้น ให้อิสระคนดูอย่างเต็มที่ ไม่มีการเฝ้ายามหรือมีเจ้าหน้าที่คอยเดินตามจับจ้อง จะถ่ายรูปเท่าไหร่ก็ได้ ไม่มีการห้าม เริ่มจากชั้นใต้ถุนจะคงลักษณะของตึกเดิมเอาไว้ ซึ่งเป็นอาคารในยุคศตวรรษที่ 18 ถัดขึ้นไปคือชั้นล่างจะเป็นร้านขายของที่ระลึก มีเวทีเล็กๆ และพื้นที่เปิดสอนการเต้นฟลาเมงโก้ ส่วนชั้นที่ 1 (หรือถ้านับแบบบ้านเราก็คือชั้นที่ 2) จะเป็นส่วนของการจัดแสดงเรื่องราวน่ารู้ของศิลปะแขนงนี้ในลักษณะของอินเตอร์แอ็คทีฟ เป็นชั้นที่น่าสนใจและน่าสนุกมากๆ ชั้นนี้จะมืดๆ นิดนึง คงเพราะต้องการสร้างบรรยากาศ ยิ่งถ้ามีคนน้อยๆ จะยิ่งได้อารมณ์ขลังมากเลยค่ะ

เดินเข้าไปในห้องแรกจะเป็นการฉายวิดีโอความเป็นมาโดยย่อของฟลาเมงโก้ ซึ่งตัดต่อและเล่าเรื่องได้น่าเพลินทีเดียวค่ะ ในห้องถัดมา ฟากหนึ่งจะเป็นจอขนาดใหญ่ ฉายภาพการเต้นฟลาเมงโก้ในรูปแบบต่างๆ ใต้จอจะมีตู้โชว์รองเท้านักเต้นดังๆ ด้วย ขณะที่อีกฟากหนึ่งจะมีหน้าจอแบบทัชสกรีนและเมาส์ลูกกลิ้งวางเรียงรายบนแท่นใส ซึ่งมีเมนูภาษาให้เลือกหลายภาษาทีเดียว ที่น่าสนใจคือมีภาษาจีนและภาษาญี่ปุ่นด้วย ใครที่ร่ำเรียนฟลาเมงโก้หรือสนใจการเต้นคงถูกใจเพราะจะมีคำอธิบายเกี่ยวกับเทคนิคการเต้น การวางท่าทางและการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง การใช้อุปกรณ์ประกอบต่างๆ อย่างค่อนข้างละเอียดและชัดเจนโดยมีภาพกราฟิกเคลื่อนไหวประกอบ
ห้องถัดมาเป็นวิดีโอเล่าเรื่องเด่นๆ ในประวัติศาสตร์ฟลาเมงโก้และบทสัมภาษณ์บุคคลที่น่าสนใจ ตรงนี้มีเมนูให้เลือกภาษาได้อีกเช่นเคย ดูกันพอเพลินๆ ก็จะโผล่ไปที่ห้องสุดท้ายซึ่งจัดแสดงเสื้อผ้าและข้าวของของนักเต้นที่มีชื่อเสียงหลายคน (และหลายชุด) ซึ่งไม่ใช่แค่จัดโชว์เฉยๆ นะคะ แต่จะมีเสียงบรรยายซึ่งก็ไม่ได้บรรยายแบบทื่อๆ แค่ว่าเป็นชุดของใคร ใส่ที่ไหน แต่จะเป็นคล้ายๆ บทละครสั้นๆ แสดงความรู้สึกนึกคิดหรืออารมณ์ในแต่ละยุคสมัยด้วย เรียกว่าคนทำโปรเจ็คต์ทำได้อย่างละเอียดอ่อนมากเลยทีเดียว ด้านริมทางเดินนอกห้องก็ตกแต่งด้วยภาพพิมพ์และภาพถ่ายของนักเต้นดังๆ รวมทั้งตู้ข้อมูลให้เราเรียกดูข้อมูลของนักเต้นคนที่โด่งดังทั้งในอดีตและในปัจจุบัน
ชั้นบนสุดคือชั้นที่ 2 (หรือชั้นที่ 3 ของเรา) จะเป็นห้องนิทรรศการซึ่งเข้าใจว่าคงจะจัดหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ช่วงที่ไปนั้นเป็นนิทรรศการของบิเซนเต้ เอสกูเดโร (Vicente Escudero) ซึ่งเป็นยอดนักเต้นสายเลือดยิปซีที่ยิ่งใหญ่มากคนหนึ่งในช่วงศตวรรษที่ 20 พื้นที่ส่วนหนึ่งมีภาพวาดฝีมือเขาแสดงโชว์ไว้ด้วย ซึ่งดูๆ ไปก็เหมือนภาพวาดลายเส้นของเด็กๆ แต่สีสันและลีลาน่าเอ็นดูทีเดียว

ใครที่มีโอกาสไปเซบิญ่า อย่าลืมไปชม Museo del Baile Flamenco ให้ได้นะคะ พิพิธภัณฑ์นี้ไปไม่ยากค่ะ แต่หลงได้ง่ายเหมือนกัน แม้ว่าจะมีป้ายบอกทางเพราะในสเปนนั้น บางที เดินๆ ไปได้ระยะหนึ่ง ป้ายก็หายวับไปซะงั้น หรือเจอทางแยก แต่ไม่มีป้ายบอก ต้องเสี่ยงดวงมั่วกันเอาเอง ถ้าตั้งต้นกันที่วิหารประจำเมืองจะง่ายที่สุด วิหารแห่งเซบิญ่านี้ใหญ่โตโอฬารมาก ไม่มีทางที่จะหาไม่เจอเด็ดขาด ส่วนใหญ่คนจะเดินมาทางถนนใหญ่ชื่อ Avenida de la Constitución ซึ่งจะมีรางรถรางอยู่ด้วย ถ้าวิหารอยู่ทางขวามือของคุณก็ง่ายเลยค่ะ พอเดินจนสุดเขตวิหารให้มองขวาเพื่อหาถนนชื่อ Alemanes (ตัวย่อ C/ ในภาษาสเปนคือคำว่า Calle หมายถึง “ถนน” ค่ะ) เดินเลาะถนนนี้ไปนิดนึงก็จะเจอถนน Placentines ให้เลี้ยวซ้าย ถึงตอนนี้ ถนนจะเริ่มมีหน้าตาเหมือนตรอกเล็กๆ มากกว่า สักพักหนึ่งก็จะเจอทางแยก ให้เลี้ยวไปทางขวาเข้าถนนชื่อ Estrella เดินไปอีกนิดก็จะเจอทางแยก ให้ไปช่องซ้าย ถนนจะไม่ค่อยตรงนัก พยายามหาถนนชื่อ Manuel Rojas ให้เจอ แล้วมองหาธงแดงผืนโตที่แขวนเรียงอยู่หน้าตึก เห็นเมื่อไหร่ก็แปลว่าคุณเจอพิพิธภัณฑ์นี้แล้วค่ะ

สำหรับค่าเข้าชมนับว่าแพงพอสมควรคือ 10 ยูโร แต่ก็เรียกว่าคุ้ม ชมพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการเสร็จแล้ว จะไปแอบดูชั้นเรียนฟลาเมงโก้ที่เปิดสอนกันอยู่ก็ได้ แถมบางวันก็จะมีโชว์ให้ดูกันฟรีๆ อีกด้วย เขามีไกด์ส่วนตัวไว้บริการด้วยนะคะ แต่ต้องติดต่อจองตัวกันล่วงหน้า ส่วนในร้านขายของที่ระลึก (tienda/ shop) ก็มีสินค้าเกี่ยวกับฟลาเมงโก้ให้เลือกชมกันไม่น้อย แต่ราคาส่วนใหญ่ก็แพงใช้ได้เลยทีเดียว จะมีที่ไม่แพงมากก็คือกรับสเปน แบบที่ทำจากพลาสติกผสม (คนขายที่นั่นบอกว่าเป็นวัสดุใหม่ ทำให้กรับมีเสียงดังก้องกว่ากรับไม้ ซึ่งก็จริงค่ะ ไม่ต้องออกแรงมากก็ดีดได้ดังกังวาน แต่อาจจะฟังไม่นุ่มหูเท่า) หน้าตาดูดีทีเดียว ราคาเพียงคู่ล่ะ 5 ยูโรเท่านั้น ถ้าเป็นแบบที่ทำจากไม้ ก็ราคาประมาณ 12 ยูโร นอกจากนี้ยังมีแบบที่เพ้นต์สีต่างๆ ดูน่ารักน่าเอ็นดู ซึ่งแบบหลังนี้แอบเห็นว่ามีวางขายในร้านข้างนอกและราคาถูกกว่าเล็กน้อย แต่ไม่มีสีให้เลือกมากเท่าที่นี่ ขนาดสีแปลกๆ อยางสีม่วง สีเทายังมีเลยค่ะ
Museo del Baile Flamenco อยู่ที่ถนน Manuel Rojas Marcos เลขที่ 3 เมืองเซบิญ่า ประเทศสเปน
โทรศัพท์: 00.34.954.34.03.11 แฟกซ์: 00.34.954.34.03.64 ส่วนเว็บไซต์มีลิงค์อยู่ทางขวามือค่ะ

โพสต์แนะนำ

Learning Flamenco in Thailand

17th September 2018/ 17 กันยายน 2561 ข่าวเพิ่มเติม ทาคุโอะเซนเซถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ดังนั้น ผู้ที่ต้องการเรียนกีตาร...